แนวคิดทฤษฎีและปรัชญา



แนวคิดทฤษฎีและปรัชญาของหลักสูตร
         ความหมายของทฤษฎี
   ทฤษฎี(Theory)หมายถึง หลักการที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว และกำหนดขึ้นมาเพื่อจะได้ทำหน้าที่อธิบายการกระทำหรือปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง(อาภรณ์  ใจเที่ยง.2525:1 อ้างถึงใน รศ.ดร.ประพิมพ์พรรณ โชคสุวัฒนสกุล.หลักสูตรมัธยมศึกษา.2534:34)
         ความหมายของทฤษฎีหลักสูตร
   ทฤษฎีหลักสูตร (Curriculum Theory) หมายถึง ข้อความที่อธิบายความหมายของหลักสูตรโดยชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ชี้นำแนวทางการพัฒนาการใช้และการประเมินผลหลักสูตรประกอบกัน
   (รศ.ดร.ประพิมพ์พรรณ โชคสุวัฒนสกุล.หลักสูตรมัธยมศึกษา.2534:34)

ทฤษฎีหลักสูตรชนิดต่างๆ
ทฤษฎีหลักสูตรแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ดังนี้
1.     ทฤษฎีแม่บท เป็นทฤษฎีหลักที่กล่าวถึงหลักการ กฎเกณฑ์ทั่วๆไป ตลอดจนโครงสร้างของหลักสูตร
2.     ทฤษฎีเนื้อหา เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับเนื้อหา กล่าวถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ
3.     ทฤษฎีจุดประสงค์ เป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมายของหลักสูตร และกล่าวถึงว่าจุดประสงค์นั้นๆได้อย่างไร
4.     ทฤษฎีดำเนินการ เป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงว่า จะทำหรือดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างไร (กาญจนา คุณารักษ์.2527:5 อ้างถึงใน โกสินทร์ รังสยาพนธ์.2526:25)
ทฤษฎีการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดของ Hilda Taba
         ทฤษฎีการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดของ Hilda Taba
          แนวคิดการพัฒนาหลักสูตรของ Taba มีบางอย่างคล้ายกับของ Tyler มาก แต่มีข้อรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกันออกไป พอสรุปได้ 11 ประการดังนี้
          1. ส่วนประกอบของหลักสูตร
          2. การศึกษาข้อมูลเพื่อนำมาเป็นเครื่องกำหนดเกณฑ์เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร
          3. วัตถุประสงค์
          4. เกณฑ์ในการกำหนดวัตถุประสงค์
5. การเลือกเนื้อหาสาระและการรวบรวมพินิจ
6. เกณฑ์ในการพิจารณาเลือกเนื้อหาสาระ
7. ปัญหาเกี่ยวกับการจัดรวบรวมเนื้อหาสาระ        
8. การจัดประสบการณ์การเรียน
9. ลำดับขั้นของการพัฒนาหลักสูตร
10. ยุทธวิธีการสอน
11. การประเมินผล (วิชัย วงษ์ใหญ่.พัฒนาหลักสูตรและการสอน-มิติใหม่.2523:20)
สรุป ทฤษฎีการพัฒนาหลักสูตรของ Hilda Taba
         ทฤษฎีการพัฒนาหลักสูตรของ Hilda Taba เป็นทฤษฎีที่ช่วยให้เราเข้าใจถึงองค์ประกอบและส่วนประกอบด้านต่างๆ ที่สำคัญของหลักสูตร ที่หลอมรวมกันเป็นหลักสูตรคุณภาพที่ใช้ในการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพ     ดังนั้นถ้าต้องการให้หลักสูตรเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ผู้ใช้ควรนำแนวทางนั้นไปทดลองและปรับใช้ในการเรียนการเรียนการสอนให้เห็นจริง จึงจะส่งผลให้หลักสูตรนั้นกลายเป็นหลักสูตรที่สมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
ปรัชญาที่เกี่ยวกับหลักสูตร
         บทบาทหน้าที่ของปรัชญา มอร์รีส (Morris.1961:3-5. อ้างถึงใน รศ.ดร.วิชัย  ดิสสระ.การพัฒนาหลักสูตรและการสอน.2535:41)กล่าวว่าปรัชญามีหน้าที่อยู่ 4 ประการคือ
1.     วิเคราะห์ปัญหาต่างๆให้ชัดเจนว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผล
2.     วิจารณ์หรือประเมินผลการกระทำต่างๆ
3.     ประมวลหรือรวบรวมแนวความคิดต่างๆเข้าเป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกและง่ายแก่การเข้าใจ
4.     ตั้งสมมติฐานของปัญหา หรือสร้างแนวของความเป็นไปได้
         ปรัชญามีประโยชน์ต่อการศึกษา ดังนี้
1.     อธิบายถึงสภาพการณ์ของการศึกษาว่าอยู่ในสภาพอย่างไร
2.     วิจารณ์ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติของการศึกษาว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร
3.     เปรียบเทียบแนวความเชื่อของตนกับแนวการจัดการศึกษาว่า แตกต่างกันอย่างไร
4.     เกิดความริเริ่มสร้างสรรค์จะพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น (Morris.1961:13-15. อ้างถึงใน รศ.ดร.วิชัย  ดิสสระ.การพัฒนาหลักสูตรและการสอน.2535:41)
แนวความคิดความเชื่อของปรัชญาสาขาต่างๆ
         จิตนิยม(Idealism)
   ปรัชญาสาขานี้มีความเชื่อว่า ความเป็นจริงของสรรพสิ่งสากลเป็นโลกแห่งจิตหรือมโนภาพ จากแนวคิดของเพลโต้ ช่วยให้ราทราบความเป็นไปของ 2 โลก โลกหนึ่งเป็นโลกของประสบการณ์หรือรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 แต่อีกโลกหนึ่งนั้นความเป็นจริงแฝงอยู่ใน มโนภาพหรือ จิตซึ่งเป็นความจริงที่สมบูรณ์แบบ คือ ความเป็นจริงเป็นจิตอย่างเดียว
(รศ.ดร.วิชัย  ดิสสระ.การพัฒนาหลักสูตรและการสอน.2535:42)

         สัจนิยม(Realism)
   นักปรัชญาสาขานี้มีความเชื่อว่าความเป็นจริงของสรรพสิ่งสากลเป็นสสารอย่างเดียว แนวคิดของอริส โตเติล ทำให้เราทราบว่าสรรพสิ่งในโลกนี้เกิดขึ้นจากวัตถุหรือสสารทั้งสิ้น ฉะนั้นการกระทำที่ดี คือการกระทำที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ และการกระทำนั้นต้องสะท้อนให้เห็นตามหลักเกณฑ์กฎธรรมชาติโดยเฉพาะ
(รศ.ดร.วิชัย  ดิสสระ.การพัฒนาหลักสูตรและการสอน.2535:42)
         เทวนิยม(Neo-Thomism)
   นักปรัชญาสาขานี้เชื่อว่า โลกนี้เป็นโลกแห่งเหตุผลและตามประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า การกระทำที่ดีงามนั้นจะต้องเป็นการกระทำที่สมเหตุสมผลและเป็นผลของแรงบันดาลใจจากพระเจ้า
         ปฏิบัติการนิยม(Experimentalism)
   นักปรัชญาสาขานี้เชื่อว่า โลกนี้เป็นโลกแห่งประสบการณ์  ฉะนั้นความเป็นจริงที่แท้จริงก็คือ ประสบการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้าเรานี่เอง ประสบการณ์รวมถึงการกระทำ การคิดและความรู้สึก เป็นกระบวนการของประสบการณ์
(รศ.ดร.วิชัย  ดิสสระ.การพัฒนาหลักสูตรและการสอน.2535:43)

         อัตถิภาวะนิยม(Existentialism)
   นักปรัชญาสาขานี้เชื่อว่า โลกนี้เป็นโลกแห่งความมีอยู่จริง ผลงานที่กระทำนั้นควรจะแตกต่างไปจากรสนิยมของสังคม ยิ่งไม่เหมือนกับสังคมเท่าใด ก็แสดงว่าการกระทำของคนคนนั้น มีสิทธิและเสรีภาพอย่างกว้างขวาง ซึ่งถือเป็นความสวยงามที่น่ายกย่อง
(รศ.ดร.วิชัย ดิสสระ.การพัฒนาหลักสูตรและการสอน.2535:43-44)

สรุป
      เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าปรัชญาคือแนวความเชื่อของมนุษย์ที่มีต่อสรรพสิ่งต่างๆในโลกเรานี้ ปรัชญาแต่ละปรัชญาย่อมมีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ผู้ใดจะเห็นควรด้วยและถือปฏิบัติตาม
   จะเห็นได้ว่าปรัชญาก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการพัฒนากลักสูตรแล้วแต่ว่าผู้ใดจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์